วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ความหมายของคำว่า " บุญ "

ความหมายของคำว่า " บุญ "
ชาว พุทธเราส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิด เกี่ยวกับเรื่องของ “ บุญ ” คิดว่าการทำบุญก็คือ การตักบาตร การถวายทรัพย์ , ปัจจัย การถวายสังฆทาน ฯลฯ เพียงเท่านี้ เป็นต้น
“ บุญ ” หรือ “ ปุญญ ” แปลว่า ชำระ หมายถึงการทำให้หมดจด จากมลทิน เครื่องเศร้าหมอง อันได้แก่ โลภะ โทสะ และ โมหะ
ตามพระไตรปิฎก เราสามารถสร้าง “ บุญ ” ได้ถึง ๓ อย่าง คือ
๑ . ทาน คือ การให้ เช่นที่กล่าวมาแล้ว คือ การตักบาตร บริจาคทรัพย์ ถวายสังฆทาน เป็นต้น ถือเป็น จาคะ หรือ การให้ นับเป็น บุญอย่างหนึ่ง แต่มีการให้บางประการที่ไม่นับเป็นบุญ เช่น สุรา มหรสพ ให้สิ่งเพื่อกามคุณ เป็นต้น
๒ . ศีล คือ ความประพฤติที่ไม่ละเมิด หรือรักษาความสำรวมทางกาย วาจา การรักษาศีลสำหรับฆราวาส ได้แก่ ศีล ๕ และอุโบสถศีล ( มี ๘ ข้อ )
๓ . ภาวนา ภาวนา คือ การอบรมจิต ทางสมถะและทางวิปัสสนา การนั่งสมาธิ เรียกว่า สมถะภาวนา ส่วนการนั่งวิปัสสนา ( สติรู้ถึงรูป – นาม ) เรียกว่า วิปัสสนาภาวนา
“ บุญ ” ยังมีอีก ๗ อย่าง ตามอรรถกถา หรือข้อปลีกย่อย นอกเหนือจากพระไตรปิฎก นับถัดไปเป็นลำดับที่ ๔ ดังนี้ ๔ . อปจายนะ ความเป็นผู้นอบน้อม ต่อผู้ที่ควรนอบน้อม
๕ . เวยยาวัจจะ ความขวนขวายในกิจ หรืองาน ที่ควรกระทำ
๖ . ปัตติทาน การให้บุญที่ตนถึงแล้วแก่คนอื่น เช่นการ อุทิศส่วนกุศล การกรวดน้ำ
๗ . ปัตตานุโมทนา คือการยินดีในบุญที่ผู้อื่นถึงพร้อมแล้ว เช่น เห็นผู้อื่นทำบุญตักบาตร เมื่อเราพลอยปลื้มปิติยินดี กล่าวอนุโมทนา เพียงเท่านี้ ก็ได้บุญแล้ว
๘ . ธัมมัสสวนะ หรือการฟังธรรม ไม่ว่าจะฟังธรรมโดยตรง หรือจากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ
๙ . ธัมมเทศนา หรือ การแสดงธรรม เมื่อได้ศึกษาธรรมะแล้ว การถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น นับเป็นบุญประการหนึ่งด้วย
๑๐ . ทิฏฐุชุกรรม คือการกระทำความเห็นให้ตรง หรือ สัมมาทิฏฐิ นั่นเอง
บุญ ทั้ง ๑๐ ประการนี้ บางที่เรียกกันว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ จะเห็นว่าบุญทำได้ถึง ๑๐ อย่าง มีเพียงข้อแรกเท่านั้นที่ต้องใช้ทรัพย์ อีก ๙ ข้อล้วนไม่ต้องใช้ทรัพย์ รู้ว่าบุญทำได้อย่างนี้แล้ว วันนี้ คุณทำบุญแล้วหรือยัง
ช่วยส่งต่อเรื่องบุญนี้ ถือเป็นบุญประการหนึ่ง ดังพระพุทธวจนะ
“ การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น